การประหารชีวิต ของ สมศักดิ์ ขวัญแก้ว

ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ได้มีคำสั่งตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ให้พลเรือตรีสมุทร์ สหนาวิน ผู้บัญชาการสถานีทหารเรือสัตหีบเป็นประธานในการประหารชีวิตสมศักดิ์ที่เชิงเขาตะแบกซึ่งห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 1.5 กิโลเมตร ด้วยการยิงเป้า[9]

ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน สมศักดิ์ได้รับประทานอาหารเช้าเป็นข้าวราดแกงเนื้อ เมื่อเวลา 11.30 น. แม่ของสมศักดิ์ได้เดินทางมายังสถานีตำรวจภูธรอำเภอสัตหีบเพื่อขอเยี่ยมสมศักดิ์เป็นครั้งสุดท้ายแต่ก็ถูกปฏิเสธ โดยตำรวจขอให้ไปพบกับสมศักดิ์ที่สถานที่ประหาร ต่อมาเวลา 13.10 น. สมศักดิ์ถูกเบิกตัวออกจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอสัตหีบ ขึ้นรถตู้เดินทางไปยังเขาตะแบกเพื่อประหารชีวิตในที่สาธารณะ หลังจากเดินทางมาถึงเขาตะแบก เจ้าหน้าที่ได้นำตัวเขาไปพิมพ์ลายนิ้วมือและเขียนพินัยกรรม โดยเขาได้บอกกับนักข่าวว่า “ที่ทำไปเพราะเมาทั้งเหล้าเมาทั้ง กัญชา ผมผิดไปแล้วก็ต้องยอม รับกรรม ลาก่อน..”[10] ต่อมาเวลา 13.40 น. เจ้าหน้าที่ได้นำอาหารมื้อสุดท้ายมา แต่เขาพูดว่าอิ่มแล้วกินไม่ลง หลังจากนั้นนำเขาไปฟังเทศน์จากพระครูประดับ จันทโชโต เมื่อจบการเทศน์เขาได้ก้มกราบพระและใช้ปลายจีวรเช็ดน้ำตา เมื่อเวลา 14.15 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวเขาไปยังหลักประหาร และสารวัตรทหารเรือผูกมัดเขากับหลักประหาร หลังจากนั้นได้มีการอ่านคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิวัติ เมื่ออ่านคำสั่งเสร็จสิ้น ผู้ควบคุมชุดเพชฌฆาตได้เรียกแถวสารวัตรทหารเรือ จำนวน 5 นายซึ่งเป็นเพชฌฆาต มายืนประจำจุดที่กำหนดไว้แล้วเล็งปืนเอ็ม2 คาร์บินไปยังเป้าตาวัวซึ่งติดอยู่บนแผงผ้าใบสีขาว[11] หลังจากนั้นพลเรือตรีสมุทร์ สหนาวินได้ออกคำสั่งให้ยิง สมศักดิ์ถูกประหารชีวิตเมื่อเวลา 14.18 น.[12] โดยกระสุนเข้าสู่ร่างกายของสมศักดิ์จำนวน 25 นัด[13][14]หลังจากนั้นร่างของสมศักดิ์ถูกญาติของเขานำไปประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดราษฎร์สามัคคี[15]

ในช่วงประมาณปีพ.ศ. 2515 - 2516 ชาวบ้านได้ช่วยกันตั้งศาลโดยมีชื่อว่าศาลเจ้าพ่อเขาโค้งหรือศาลเจ้าพ่อเขาแขก ที่บริเวณริมถนนสุขุมวิท เชิงเขาตะแบก เพื่อให้เป็นสิงห์สถิตดวงวิญญาณและกราบไหว้ขอพร โดยมีความเชื่อว่าเวลาขับรถผ่านต้องบีบแตร[16] ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 สำนักก่อสร้างทางที่ 2 กรมทางหลวง ได้มีโครงการก่อสร้าง ปรับปรุง และแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ช่วงอำเภอสัตหีบ ถึงอำเภอบ้านฉาง เป็นระยะทาง 10.141 กิโลเมตร โดยขยายช่องทางจราจรเป็น 6 – 11 ช่องจราจร ซึ่งการขยายช่องทางจราจร จะตัดผ่านทับบริเวณจุดที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อแขก[17] ในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เจ้าหน้าที่ของโครงการได้พิธีขอย้ายศาล โดยอัญเชิญขึ้นไปบนเชิงเขาสูงจากที่ตั้งศาลเดิม 50 เมตร เพื่อไม่ให้ชาวบ้านและคนในชุมชนไม่สบายใจ[18][19]

ใกล้เคียง

สมศักดิ์ เทพสุทิน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ สมศักดิ์ ศิษย์ชัชวาลย์ สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ สมศักดิ์ ชัยสงคราม สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต สมศักดิ์ ขวัญแก้ว สมศักดิ์ พรนารายณ์

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมศักดิ์ ขวัญแก้ว https://www.thairath.co.th/news/local/east/1608200 https://www.thairath.co.th/news/society/1624130 https://www.thairath.co.th/news/local/east/1607336 https://www.thairath.co.th/news/local/east/1608115 https://www.thairath.co.th/news/local/east/1627201 https://dohmuseum.wixsite.com/dohmuseum01/single-p... https://www.naewna.com/likesara/424511 https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_268... https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_275... https://mgronline.com/local/detail/9620000064309